วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การเรียนพยาบาลในอเมริกา


อาชีพ “พยาบาล” (Registered Nurse) เป็นอาชีพที่ขาดแคลนและอยู่ในความต้องการสูงมาตลอด 30 ปีและจะเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกอย่างน้อย 20 ปี ดังนั้นการเรียนพยาบาลเป็นอีกวิชาชีพที่น่าสนใจ

Career in Healthcare การจะเรียนพยาบาลนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิดแต่ก็ไม่ยากเกินกว่าความพยายามแน่นอน...แต่ก่อนจะตัดสินใจเรียนคำถามแรกที่ควรถามตัวเองก็คือ:
- “รัก” ที่จะทำงานทางด้านนี้หรือเปล่า? (อันนี้สำคัญที่สุด)
- ยังมี “ไฟ” ที่จะเรียนอยู่หรือเปล่า?
- พื้นฐานภาษาอังกฤษอยู่ในระดับไหน?
- มีเวลาให้กับการเรียนหรือไม่?
- มีภาระอื่นๆ ในครอบครัว เช่น มีลูกเล็กๆ หรือไม่? เป็นต้น

การเรียนพยาบาลนั้นต้องเริ่มต้นจากการเป็น pre-nursing student ก่อนและต้องเรียนวิชาพื้นฐานอย่างน้อย 2 ปี...ภาษาอังกฤษเป็นสิ่งสำคัญมากต้องพูด, เขียน, ฟัง, และอ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ และต้องมีเวลาให้กับการอ่านตำรานอกห้องเรียนหรือการทำ lab write up หรือ presentation ต่างๆ อีกด้วย..

ในสายงาน Nursing Service นั้นก็มีงานหลากหลายตำแหน่ง สำหรับพยาบาลก็แบ่งออกเป็นระดับต่างๆ ดังนี้:

Certified Nurse Aide (CNA) – ทำงานภายใต้การดูแลของพยาบาล RN และพยาบาล LVN, ผ่านการอบรม basic patient care, และต้องสอบ state licensing examination การเรียน CNA นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นหลักสูตรสั้นๆ ประมาณ 6 อาทิตย์ สามารถสมัครเรียนได้ตามโรงเรียนที่เปิดให้บริการด้าน care giver หรือ adult schools ทั้งนี้ผู้สมัครเรียน CNA จะต้องทดสอบภาษาอังกฤษก่อน สำหรับที่แคลิฟอร์เนียนั้นจะต้องสอบ state licensing examination ก่อนถึงจะทำงานได้

ค่าใช้จ่ายในการเรีัยน CNA นั้นประมาณ $1,000 (รวมค่า tuition, ค่าประกัน, และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น uniform, textbook เป็นต้น) ส่วนค่าตอบแทนนั้นแต่ละรัฐจะมีอัตราต่างกันและขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลด้วย ที่ CA จ่ายชม.ละ $ 10-12 (บางแห่งจ่ายถึงชม.ละ $18 ก็มีค่ะ)...

Licensed Practical/Vocational Nurse (LPN หรือ LVN) – ทำงานภายใต้การดูแลของแพทย์และพยาบาล RN, ผ่านการอบรม basic nursing techniques, และสอบผ่าน national licensing examination

การเรียน LVN นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นหลักสูตร 18 เดือน ไม่นับรวมเวลาที่ต้องเรียนวิชาพื้นฐานซึ่งได้แก่:
- Introduction to Anatomy and Physiology
- Mathematics for Health Sciences
- Computer Literacy
- Integrated Reading, Writing, and Critical Thinking
- Introduction to Nutrition
- Medical Terminology

ค่าใช้จ่ายสำหรับการเรียน LVN นั้น ถ้าเป็นโรงเรียนเอกชนหลักสูตรหนึ่งประมาณ $10,000 ถ้าเป็น Community College ก็ขึ้นอยู่กับหน่วยกิตที่จะต้องลงทะเบียนเรียนตลอดหลักสูตร (ไม่รวมวิชาพื้นฐาน) ไม่เกิน $1,500 ที่ CA หากเป็น residence และลงเรียนใน Community College จ่ายหน่วยกิตละ $26 ถ้าเป็นนักเรียนต่างชาติหน่วยกิตละ $187 อย่างไรก็ตามยังไม่รวมค่า textbook (แพงมาก) ส่วนเมื่อเรียนจบแล้วค่าตอบแทนนั้นที่ CA ประมาณชั่วโมงละ $20 ขึ้นไป

อย่างไรก็ตามหากเรียนจบ LVN และมีประสบการณ์การทำงานอย่างน้อย 1 ปีและเรียนวิชาพื้นฐานครบตาม requirement ก็สามารถสมัครเข้าเรียน RN ได้และใช้เวลาเรียนประมาณ 1 ปี

Registered Nurse (RN, BSN, MSN) – พยาบาล RN ที่จบการศึกษาระดับ Associate’s Degree (RN), ปริญญาตรี Registered Nurse (BSN), หรือปริญญาโท Registered Nurse (MSN), และสอบผ่าน national licensing examination

การเรียน Registered Nurse ในระดับ Associate’s Degree นั้นเป็นหลักสูตร 2 ปี ไม่นับรวมเวลาที่ต้องเรียนวิชาพื้นฐานและต้องได้เกรดเฉลี่ยของวิชาพื้นฐานตามที่กำหนด ซึ่งได้แก่:
- College Composition (มีวิชาพื้นฐานอย่างน้อย 2 วิชา)
- Math for Health Sciences
- Human Anatomy
- Human Physiology
- Introduction to Microbiology
- General Psychology
- Child Development
- และ Pharmacy เป็นต้น

ค่าใช้จ่ายสำหรับหลักสูตร RN (Associate’s Degree) ถ้าเป็นโรงเรียนเอกชนประมาณ $18,000-$20,000 แต่ถ้าเป็น Community College (ไม่รวมวิชาพื้นฐานและ General Education) ประมาณ $2,100 สำหรับ residence หากจบมาแล้วได้ค่าตอบแทนประมาณ $30-40 ต่อชม. ขึ้นอยู่กับรัฐและโรงพยาบาล สำหรับนักเรียนต่างชาติ บางโรงพยาบาลอาจจะ offer “Green Card” ให้ด้วย

การเรียนหลักสูตร RN (Associate’s Degree) นั้น ไม่ได้เรียนเฉพาะวิชาพยาบาลเท่านั้น นักเรียนพบาบาลทุกคนจะต้องเรียนวิชา่บังคับหรือที่เรียกว่า General Education เช่น Political Science, History, Philosophy, PE, Humanity และอื่นๆอีกมากมาย

หมายเหตุ: วิชาพื้่นฐานของ RN และ LVN อาจจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับหลักสูตรของแต่ละสถาบันการศึกษา นอกจากนี้นักเรียนพยาบาลทุกคนจะต้องผ่านการอบรม CPR และได้รับบัตรรับรองว่าเป็นผู้ผ่านการอบรมจาก American Heart Association ด้วย

การเรียน Registered Nurse ในระดับ BSN เป็นหลักสูตร 3 ปี ไม่นับรวมเวลาที่ต้องเรียนวิชาพื้นฐานและต้องได้เกรดเฉลี่ยของวิชาพื้นฐานตามที่กำหนด ซึ่งเพิ่มเติมจาก RN ในระดับ AS Degree อีกอย่างน้อย 3 วิชา คือ:
- Oral Communication
- Philosophy: Critical Thinking
- Chemistry

ค่าใช้จ่ายสำหรับการเรียน BSN นั้นขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย แต่ส่วนใหญ่แล้วถ้าเป็น residence จ่ายแค่ 17% ของค่าเล่าเรียนทั้งหมด (ประมาณ $900++ ต่อ semester) และบางหลักสูตร เช่น ที่ California State University East Bay นั้นทางโรงพยาบาล John Muir เป็น sponsor ให้กับนักเรียนพยาบาลทุกคน (เท่ากับเรียนฟรีเลย แถมจบมาได้ทำงานที่ John Muir อีก)...จบมาค่าตอบแทนก็สูงกว่า RN (Associate’s Degree)

การเรียน Registered Nurse ในระดับ MSN เป็นหลักสูตรปริญญาโท 2 ปีมี 2 ประเภทคือ สำหรับพยาบาลที่จบ BSN และสำหรับคนที่จบปริญญาตรีสาขาอื่นๆ แต่จะเปลี่ยนสายงานมาเป็นพยาบาล เป็นหลักสูตร 2 ปี สำหรับพยาบาลที่จบ BSN ต้องได้เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.0 จึงจะเข้าเรียนได้ ส่วนคนที่จบสาขาอื่นมาจะต้องไปเรียนวิชาพื้นฐานได้แก่:
- Human Anatomy
- Human Physiology
- Microbiology
- Computer Literacy
- Statistic

บางแห่ง เช่น UCSF ไม่รับนักเรียนต่างชาติ ยกเว้นเป็นนักเรียนที่ถือ Green Card หรือเป็น immigrant แต่จะต้องสอบ TOEFL และ GRE ด้วย ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรไม่ต่ำกว่า $20,000 ต่อปี (ไม่รวมวิชาพื้นฐาน) ส่วนใหญ่คนที่จบปริญญาโทพยาบาลมักจะเบนเข็มมาเป็นอาจารย์สอนนักเรียนพยาบาล ดังนั้นค่าตอบแทนอาจจะน้อยกว่าพยาบาล RN และ BSN (ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกันค่ะ)

หากสนใจอยากเรียนวิชาชีพพยาบาลในอเมริกา ควรเริ่มต้นจาก:
- หาข้อมูลหลักสูตรต่างๆ ที่สนใจใน “เขต” (County) ที่อยู่ว่ามีเปิดกี่แห่ง ที่ไหนบ้าง? – ควรเรียนใกล้บ้านเพราะอาจจะมีผลในเรื่องของการ commute และ selection criteria
- ติดต่อขอคำปรึกษาจาก counselor ของโรงเรียนนั้นๆ สอบถามข้อมูลเชิงลึกให้ได้มากที่สุดก่อนตัดสินใจ
- สอบถามวิธีคัดเลือก (selection criteria) เข้าเรียนในหลักสูตรพยาบาลของโรงเรียนนั้นๆ
- สอบถามเรื่องวิชาพื้นฐานที่ต้องเรียนทั้งหมด (บางครั้งอาจจะมีวิชาพื้นฐานของวิชาพื้นฐานด้วย)
- นำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบดูความแตกต่างของหลักสูตรของแต่ละโรงเรียนทั้งในเรื่องของระยะเวลาในการเรียน, วิชาพื้นฐาน, ระยะเวลาในการเรียนตลอดหลักสูตร (รวมเวลาที่ต้องเรียนวิชาพื้นฐาน) ตลอดจนค่าใช้จ่ายต่างๆ

ข้อควรพิจารณา:
- การสมัครเข้าเรียนหลักสูตรพยาบาลนั้น โดยทั่วไปนักเรียนทุกคนจะต้องผ่าน Assessment Test เพื่อดูว่าพื้นฐานความรู้ด้านภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์อยู่ตรงไหน ก็จะต้องไปเริ่มต้นจากตรงนั้น คือ ถ้าคะแนน AT ออกมาสูงก็สามารถเข้าไปเรียนวิชาพื้นฐานได้เลย แต่ถ้าได้คะแนนต่ำกว่าที่กำหนดอาจจะต้องไปเรียนไต่ระดับขึ้นมา (มากน้อยแล้วแต่ความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล)

- โดยทั่วไปมักจะอนุโลมให้นักเรียนสามารถ transfer วิชาพื้นฐานได้หากเรียนมาไม่เกิน 5 ปี แต่ทางที่ดี “ควรจะ” เรียนใหม่จะดีที่สุด เพราะว่าการ transfer นั้นจะต้องเอา transcript ไปประเมินซึ่งเกรดที่ประเมินอาจจะต่ำกว่าเกรดที่ได้ใน transcript และบางแห่ง “เน้น” ให้ pre-nursing student ลงทะเบียนเรียนวิชา science ที่โรงเรียนนั้นๆ

- วิธีการคัดเลือกก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่ควรพิจารณา ถึงแม้ว่าอาชีพพยาบาลจะเป็นอาชีพขาดแคลน แต่การผลิตพยาบาลออกสู่ตลาดนั้นแต่ละหลักสูตรค่อนข้างจะ “จำกัด” จำนวนนักเรียนมากๆ เช่น ที่ LMC รับนักเรียนได้ปีละ 40 คน (จากใบสมัคร 700 คน) การคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนในหลักสูตรนั้นแต่ละสถาบันก็จะมีวิธีการที่แตกต่างกันไป เช่น ดูจากเกรดเฉลี่ย, การให้คะแนนจากผลการเรียน + ประสบการณ์ + ความรู้ด้านภาษาที่ 2, การคัดเลือกจากคนในพื้นที่, หรือใช้วิธี random เป็นต้น

- ควรวางแผนการเรียนไว้อย่างน้อย 2 แผน หากผิดแผนแรกคือ เข้าเรียนที่นี่ไม่ได้ก็ไปเดินอีกทางหนึ่ง

- ควร update ข้อมูลต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ด้วยการพบ counselor อย่างน้อยเทอมละ 1 ครั้ง และแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเพื่อนๆ ตลอดเวลา การสร้าง network กับคนในสายงานหรือเรียนสายเดียวกันจะทำให้ update ข้อมูลได้เป็นอย่างดี

หากตัดสินใจที่จะเรียนวิชาชีพพยาบาลต้องยอมรับสภาพว่าต่อไปนี้ชีวิตจะไม่เหมือนเดิมแล้วเวลาที่มีจะต้องทุ่มเทให้กับการเรียนและจะต้องเรียนหนักมากๆ (หนังสือก็หนักด้วย) เพราะหากได้คะแนนต่ำกว่าที่เขากำหนด ก็หมดสิทธิ์เรียนต่อทันที...แบบ “แพ้คัดออก”...ไม่มี retake พูดง่ายๆ ได้ใจความคือ “เข้ายาก ออกง่าย”

ถ้าอ่านมาจนถึงตรงนี้แล้วยังอยากเรียนพยาบาลอยู่นะคะ...ก็เริ่มหาข้อมูลเชิงลึกได้เลยค่ะ แต่ถ้าเปลี่ยนใจหรือกลัวเข็มกลัวเลือด ก็อ่านต่อไปนะคะ เพราะว่างานด้าน Health Care นั้นไม่ใช่จะมีแค่ที่เล่ามาทั้งหมดนั้นยังมีอีกมากมายค่ะ และสามารถลงเรียนในหลักสูตรสั้นๆ ได้ค่ะ เช่น
- Medical Assistant
- Medical Transcriptionist
- Certified Medical Assistant (CMA)
- Electrocardiogram (EKG) Technician
- Dental Assistant
- Emergency Medical Technician - Paramedic (EMT-P) เป็นต้น

ทฤษฎีการพยาบาล

เมลลิส (melis 1997:13) ให้ความหมายทฤษฎีว่า เป็นข้อความที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างมโนทัศน์ ทฤษฎีการพยาบาล (nursing theory) เปรียบเสมือนเป็นการสรุปทางความคิดเกี่ยวกับข้อความจริงทางการพยาบาล โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพรรณาปรากฏการณ์ อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์ ทำนายผลที่จะเกิดขึ้น หรือ การควบคุมปรากฏการณ์ทางการพยาบาล

ฟอว์เซท (fawcett 1989) ให้นิยามโดยเน้นที่ปรากฏการณ์ทางการพยาบาล (nursing phenomena) โดยนิยามว่า ทฤษฎีการพยาบาลประกอบด้วยมโนทัศน์ และข้อสันนิษฐาน (proposition) ที่มีความเฉพาะเจาะจงมากกว่าแบบจำลองความคิด ทฤษฎีการพยาบาลจะกล่าวถึงบุคคล สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการพยาบาล และระบุความสัมพันธ์ระหว่างมโนทัศน์ทั้ง 4 ดังกล่าว

จากนิยามดังกล่าว ทฤษฎีการพยาบาลจึงเป็นข้อความแสดงความสัมพันธ์ระหว่างมโนทัศน์ทางการพยาบาลที่พรรณา อธิบาย ทำนาย และควบคุมปรากฏการณ์ทางการพยาบาลเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ

กิจกรรมสำคัญ

กิจกรรมสำคัญของการพยาบาลได้แก่

1.การดูแลให้ความสุขสบาย (care and comfort) ช่วยเหลือบุคคลให้สามารถจัดการกับปัญหาทางสุขภาพและการเจ็บป่วย (health illness continuum) ได้ด้วยตนเอง หน้าที่ของพยาบาลจึงมุ่งที่จะวิเคราะห์ข้อมูลทางการพยาบาล เพื่อให้ข้อวินิจฉัยทางการพยาบาล (assesment and diagnosis)
2.ให้คำแนะนำ คำสอนด้านสุขภาพ (health teaching) เพื่อคงไว้ซึ่งสุขภาพอันดีและส่งเสริมผลการรักษา มุ่งด้านการดูแลตนเอง (self care) ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนของสมาชิกในครอบครัว
3.ให้คำปรึกษา (counselling) ด้านสุขภาพอนามัยทั้งในภาวะปกติ และขณะที่มีภาวะกดดัน อันเป็นเหตุให้สุขภาพเบี่ยงเบนไปจากปกติ
4.ให้การดูแลด้านสรีรจิตสังคม (physiopsychosocial intervention) โดยการใช้วิธีการพยาบาลการปฏิบัติ
การพยาบาลของพยาบาลวิชาชีพในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนามาเป็นลำดับ ตามการเปลี่ยนแปลงความต้องการด้านบริการสุขภาพของประชาชน และตามความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ชีวิตคือการพยาบาล